web analytics

“เล่าเรื่องให้เลื่องลือ” นำร่องสร้างซอฟท์พาวเวอร์

“เล่าเรื่องให้เลื่องลือ” นำร่องสร้างซอฟท์พาวเวอร์

กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ จัดโครงการ “เล่าเรื่องให้เลื่องลือ” มอบโล่ห์รางวัลให้กับผู้ชนะรางวัลบทละครโทรทัศน์ดีเด่น พร้อมกิจกรรมเวทีเสวนา “เปิดแฟ้ม..เล่าเรื่องให้เลื่องลือ” บอกเล่าถึงเรื่องราวการดำเนินงานที่ผ่านมาทั้ง 5 ภูมิภาค โดยมี ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วย อาจารย์แดง – ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ และ    คุณละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล ที่ปรึกษาสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ร่วมเวทีเสวนาและมอบรางวัลให้กับผู้ชนะทั้ง 5 ท่าน  พร้อมนำมาผลิตเป็นละครซีรีส์เพื่อเผยแพร่ ภายในปี 2565  (วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ณ เดอะ ควอเตอร์ อารีย์ บาย ยูเอชจี เขตจตุจักร กทม.)

ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

“เรามีเป้าหมายร่วมกันในการส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการผลิตสื่อที่มีคุณภาพและเป็นโยชน์ ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้ และเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาผู้ผลิตสื่อที่เป็นช้างเผือกจากในชุมชนหรือท้องถิ่น ที่หยิบยกประเด็นที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนของตนเองมาเล่าเรื่องในมิติที่มีกรอบแนวความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการพัฒนาความคิดใหม่ๆและต่อยอดไปสู่เนื้อหาที่สามารถจะพัฒนาเป็นชิ้นงานสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ที่นำไปดำเนินการผลิตและเผยแพร่ได้จริง จึงเกิดเป็นโครงการ “เล่าเรื่องให้เลื่องลือ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานักเขียนในท้องถิ่น ให้เป็นนักเล่าเรื่องและนักเขียนบทละครโทรทัศน์ที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์เนื้อหาบทละครอย่างมีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมการผลิตละครโทรทัศน์ในยุคปัจจุบัน ผ่านกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้เรียนรู้หลักสูตรแนวคิดและกระบวนการเล่าเรื่องและการสร้างสรรค์คอนเทนต์ จากวิทยากรที่เป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์มืออาชีพและคร่ำหวอดอยู่ในวงการละครโทรทัศน์ ซึ่งจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการแล้วใน 4 ภูมิภาค  คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออก

ด้าน อาจารย์แดง – ศัลยา สุขะนิวัตติ์ นายกสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ เผยว่า หลังจากนี้จะคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุดจากตัวแทนของแต่ละภูมิภาค เป็นผู้เขียนบทละคร 5 คน ที่มีพล็อตเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ 5 แบบ 5 สไตล์ โดยจะมีนักเขียนมืออาชีพมาร่วมกันพัฒนาบทละคร ร้อยเรียงให้โครงเรื่องทั้งหมดมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน แต่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ท้องถิ่นของแต่ละภูมิภาคได้อย่างสมบูรณ์ จากโครงการนี้ เราจะได้ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์หน้าใหม่ที่เป็นช้างเผือกมาจากชุมชนหรือท้องถิ่น ได้มาเขียนบทร่วมกับนักเขียนบทละครตัวจริงเสียงจริง เพราะฉะนั้นเราจะมีนักเขียนละครหน้าใหม่ ที่มาจากระดับชุมชนท้องถิ่นเกิดขึ้นในวงการอย่างแน่นอน และผลงานบทละครจากนักเขียนทั้ง 5 คนจะได้ถูกนำมาผลิตเป็นละครซีรีส์เพื่อเผยแพร่ ภายในปี 2565 นี้ โปรดติดตามชม

admin