web analytics

“What We Owe Each Other” สัญญาประชาคมศตวรรษที่ 21

“What We Owe Each Other” สัญญาประชาคมศตวรรษที่ 21

“นายอานันท์ ปันยารชุน” ประธาน อมาตยา เซ็น เลคเชอร์ ซีรีย์ กรุงเทพฯ พร้อมคณะจัดงาน โจ ฮอร์น-พัธโนทัย กรรมการผู้จัดการ Strategy613 และ ณพวงศ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ประธานร่วมสมาคมศิษย์เก่า LSE ประเทศไทย

เปิดปาฐกถาหัวข้อ “What We Owe Each Other” ว่าด้วยเรื่องสัญญาประชาคมในศตวรรษที่ 21 โดย บารอนเนส มินุช ชาฟิค ผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ลอนดอน (London School of Economics and Political Science – LSE) ร่วมเสวนากับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์อมาตยา เซน และ ศาสตราจารย์อลิซาเบธ โรบินสัน โดยมีบุคคลสำคัญ อาทิ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม, โชติ โสภณพนิช, อิสระ ว่องกุศลกิจ, สราวุฒิ อยู่วิทยา, เอกอัครราชทูต และตัวแทนจากสถานทูตมากกว่า10 ประเทศ เข้าร่วมงาน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

ศาสตราจารย์อมาตยา เซน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี ค.ศ. 1998 มีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ลอนดอน มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ความทุ่มเทในการพัฒนาด้านเศรษฐศาสตร์ของศาสตราจารย์เซนนั้นมากเกินบรรยาย เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม และได้เปลี่ยนวิธีการประเมินความสำเร็จให้กับหน่วยงานระดับโลกต่างๆ เช่น ธนาคารโลกและสหประชาชาติ ในปีนี้เหมือนเช่นเคย ศาสตราจารย์เซนให้เกียรติมาเป็นผู้ร่วมเสวนากิตติมศักดิ์ในการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องสัญญาประชาคมใหม่ครั้งนี้ด้วย

หลังจากการเกษียณอายุของ ศาสตราจารย์เซนในฐานะอาจารย์ประจำวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี ค.ศ. 2004 ศิษย์เก่าของวิทยาลัยทรินิตีได้รวมตัวจัด Amartya Sen Lecture Series โดยเชิญวิทยากรระดับสูงมาร่วมอภิปราย โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของการอภิปรายสาธารณะในประเด็นต่างๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม ประชาธิปไตย

ในปี ค.ศ. 2015 อานันท์ ปันยารชุน ได้เริ่มคุยกับ โจ ฮอร์น-พัธโนทัย ถึงความคิดที่จะนำปาฐกถานี้มาสู่เอเชีย และหลังจากประสบความสำเร็จในการบรรยาย 2 ครั้งแรกในกรุงเทพฯ โดยมี Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น และ Angel Gurría เลขาธิการ OECD เป็นผู้บรรยาย ในปีนี้คณะผู้จัดได้เชิญ บารอนเนส มินุช ชาฟิค นักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้า เคยดำรงตำแหน่งรองประธานธนาคารโลก ที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ต่อมาปี ค.ศ. 2008-2011 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศ ถัดมาในปี ค.ศ. 2011-2014 ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และในปี ค.ศ. 2014-2017 ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ปัจจุบัน บารอนเนส มินุช ชาฟิค ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย LSE มาบรรยายในหัวข้อ  “What We Owe Each Other”

อานันท์ ปันยารชุน กล่าวเปิดงานว่า ขณะที่เขาเรียนอยู่ที่เคมบริดจ์กับอมาตยา เซน ในปี ค.ศ.1950 พันธสัญญาทางสังคมในตอนนั้นมีความแตกต่างจากปัจจุบันมาก ในทศวรรษต่อมา เราได้เห็นอายุขัยที่เพิ่มขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น ความเจริญรุ่งเรืองที่เพิ่มขึ้น และอัตราการเกิดที่ลดลง ทั้งหมดนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของสัญญาประชาคมในปัจจุบัน เมื่อเผชิญกับ “ชีวิตวิถีใหม่” ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด และภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่วนเวียนเกิดขึ้น เราจึงต้องการสัญญาประชาคมฉบับใหม่

บารอนเนส มินุช ชาฟิค บรรยายถึงพันธสัญญาทางสังคมต่างๆ ที่ผูกมัดประชาชน รัฐบาล ครอบครัว และสังคมว่า บางอย่างเป็น “ข้อตกลงที่ไม่ได้เจรจา” เช่น ข้อตกลงระหว่างสมาชิกต่างวัยในครอบครัวเดียวกัน หรือ ระหว่างสามีภรรยาในการรับผิดชอบงานบ้านหรือการเลี้ยงลูก บางอย่างเป็นสัญญาที่เป็นทางการ เช่น นายจ้างจัดหาเงินบำนาญให้ลูกจ้าง และยิ่งไปกว่านั้น คือพันธสัญญาระหว่างประชาชนกับรัฐบาล เช่น การจัดหาบริการด้านสุขภาพและการศึกษา การจ่ายเงินทางสังคมส่วนใหญ่ที่ประชาชนได้รับจากรัฐบาล ไม่ว่าในช่วงเริ่มต้นของชีวิตที่มาในรูปแบบของการศึกษา หรือในช่วงหลังของชีวิตในรูปแบบของการดูแลสุขภาพ ที่ไม่ได้มาจากรายได้ที่แบ่งจาก “คนรวย” แต่เป็นเงินสมทบแบบเติมเงินหรือจ่ายภายหลังจากการออมของตนเองในรูปแบบของภาษีที่จ่ายให้กับรัฐบาลในช่วงปีวัยทำงาน

หลังจากการบรรยาย บารอนเนส ชาฟิกได้เข้าร่วมอภิปรายกับ ศาสตราจารย์เซน และศาสตราจารย์อลิซาเบธ โรบินสัน โดยมี โจ ฮอร์น-พัธโนทัยเป็นผู้ดำเนินรายการ ศาสตราจารย์โรบินสันเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นหัวหน้าสถาบันวิจัย Grantham ของ LSE ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลกที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ระหว่างการอภิปราย ศาสตราจารย์โรบินสัน กล่าวถึงความจำเป็นในการทำสัญญาประชาคมฉบับใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งหากไม่เริ่มลงมือในตอนนี้ก็อาจจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว ศาสตราจารย์เซนยังตั้งข้อสังเกตว่าสังคมสูงวัยไม่ควรถูกมองว่าเป็นปัญหา แต่ควรมองในแง่บวกว่าเป็นความจริงที่เราทุกคนต้องเผชิญ

admin