web analytics

มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.)

มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.)

ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ต่อยอด บูรณาการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และผู้คนในชุมชนของประเทศไทย ขับเคลื่อน

BCG Model พลิกวิกฤติเป็นโอกาส พิชิตความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ความต้องการอาหารทั่วโลกจึงเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของจำนวน ประชากร และจำนวนการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร   (food security) ที่คนทุกระดับจะสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างเพียงพอ มีความปลอดภัยและมีคุณค่า ทางโภชนาการ ตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจ เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งในทางกายภาพ และทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในบริบทโลก

สำหรับในประเทศไทย เมื่อ 13 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (โมเดลเศรษฐกิจ BCG) ที่ประชุม ได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วย “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2569 โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติเรื่องที่ 2 ต่อจาก “ ไทยแลนด์ 4.0”

มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) นำโดยนางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ประธานมูลนิธิ ฯ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาปรับใช้ต่อยอด เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส บูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชนต่างๆของประเทศไทย กว่า 700 โรงเรียน ขับเคลื่อนผ่านโมเดลเศรษฐกิจ  BCG พลิกวิกฤติเป็นโอกาส พิชิตความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม คือ การยึดโยงโมเดลเศรษฐกิจ BCG  กับการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกหลังโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อ โรงเรียน ผู้ประกอบกิจการด้านอาหารที่ต้องปิดกิจการชั่วคราว ทำให้ขาด สภาพคล่องทางการเงิน ขาดรายได้ และเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศฝืดเคือง นักเรียนต้องหยุดเรียน ขาดการส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการ เกิดอัตราเพิ่มขึ้นของภาวการณ์ขาดสารอาหาร และ ภาวะน้ำหนักตัวเกินในเด็กและเยาวชน จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบอาหารทั้งในระดับโรงเรียน และระดับแหล่งผลิต-บริโภคอาหารในชุมชน ท้องถิ่นใกล้เคียง เพิ่มประเด็นการพัฒนาที่สูงขึ้น พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพสถานประกอบกิจการ ด้านอาหาร ผ่านการพัฒนาแพลตฟอร์มอาหารระดับชาติ เพื่อให้ประชาชน สามารถเข้าถึงการบริการอาหาร ที่สะอาด ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ ดีต่อสุขภาพและมีความมั่นคงทางอาหารของชุมชน  ทั้งนี้ โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมนูอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละกลุ่มวัย ในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ให้มีช่องทางซื้อ-ขายอาหาร ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตอาหารต้นทาง ที่เป็นอาหารอินทรีย์ อาหารปลอดภัย หรืออาหารที่รักษาสิ่งแวดล้อม นำสู่ผู้ประกอบกิจการด้านอาหารทั้งร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม  รีสอร์ตในแหล่งท่องเที่ยว ผู้รับจ้างจัดบริการอาหารแก่โรงเรียน ผู้ต้องการอาหารเพื่อสุขภาพ และผู้สูงวัย จึงเป็นแนวคิดของ นักวิชาการ ภาคเอกชนและรัฐบาลที่จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนระบบอาหารในอนาคต (Future Food System) ให้เหมาะสม ดังเช่นนโยบาย BCG economy สาขาเกษตรและอาหาร และ SDGs

ปี 2564 มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) ได้มีการดำเนินโครงการขับเคลื่อนระบบ คุณภาพอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน พยายามผลักดัน งานอาหารโรงเรียนทั้งระบบ เข้าสู่กลไก การขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติในระยะเริ่มต้นเรียบร้อยแล้ว  โดยเสนอคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้ คณะกรรมการอาหารแห่งชาติ จัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาและชุมชน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ประธานอนุกรรมการเป็นผู้บริหารระดับสูง ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีคณะ เลขานุการประกอบด้วย 4 องค์กรหลัก คือ (1) สำนักโภชนาการ กรมอนามัย  (2) สำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สพฐ. (3) มูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และ (4) สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการและคณะทำงาน มีที่ปรึกษา คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์  ดร.สง่า ดามาพงษ์ และรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้น 3 คณะ ได้แก่ (1) คณะทำงานพัฒนามาตรฐานระบบ การจัดการอาหารและโภชนาการในโรงเรียน รับผิดชอบโดยมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ             (2) คณะทำงานพัฒนากำลังคนด้านอาหารและโภชนาการ รับผิดชอบโดย สำนักโภชนาการ กรมอนามัย และ     (3) คณะทำงานพัฒนาระบบการติดตามและประเมิณผลภาวะโภชนาการและคุณภาพอาหารของนักเรียน รับผิดชอบโดย สำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน สพฐ. โดยมีหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมทั้งสิ้นกว่า 25  หน่วยงาน จากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน สำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการ สถานศึกษาที่เป็นตัวแทนจากพื้นที่ 4 ภูมิภาค สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย สถาบันโภชนาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา  และ กรรมการมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ

    สำหรับ ปี 2565 โครงการนี้ มีเป้าหมาย มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนงานมาตรฐานระบบ ในการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษาและชุมชน ต่อเนื่อง โดยรับสมัครสถานศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมนำร่อง ตามมาตรฐาน เพิ่มขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทุกจังหวัด มีกระบวนการให้ความรู้ การติดตาม กระตุ้นให้เกิดการส่งเสริม และพัฒนาเชื่อมโยงอาหารปลอดภัยและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของเด็กวัยเรียน โดยการมีส่วนร่วม ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับชาติ ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน ไปจนถึงระดับโรงเรียน ที่ได้ความร่วมมือ จากนักเรียน-ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้เด็กทุกคนได้รับอาหารเพื่อสุขภาวะที่เหมาะสมตามวัย โดยวางแผนจะมีการถอดบทเรียน และจัดทำแผนระยะ 10 ปี ระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ศึกษาหาวิธีแก้ปัญหา

ด้านกฎระเบียบที่จำเป็น หนุนเสริมให้มีการศึกษาพัฒนารูปแบบ กลไกการทำงานของระบบอาหารชุมชนจากตำบล อำเภอ สู่ระดับจังหวัด เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดความยั่งยืน นำเสนอรูปแบบผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะ สอดคล้องกับทิศทาง ตามวิสัยทัศน์แผนยุุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561–2580) ตามกรอบ

การจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่่ 13 ภายใต้แนวคิด “พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้า ยั่งยืน” (Transformation to Hi-Value and Sustainable Thailand) และ สอดคล้องกับเป้าหมายในกรอบยุทธศาสตร์ การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2    (พ.ศ.2561-2580) ของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ

    ทั้งนี้ คู่มือมาตรฐานระบบการจัดการอาหารและโภชนาการในสถานศึกษา มีเกณฑ์ 5 หมวด รวม 23 ตัวชี้วัด  โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับคุุณภาพการจัดการอาหารกลางวันในสถานศึกษา ให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพ อาหาร โภชนาการ แก่เด็กและเยาวชน ให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ เกิดความเชื่อมโยงระหว่างบ้าน – โรงเรียน -ชุมชน เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสมดุล (Open – Connect – Balance) และลดภาวะทุุพโภชนาการ ลดเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และโรคอาหารเป็นพิษ ประกอบด้วย 5 เกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่  (1) นโยบายและการบริหารจัดการของสถานศึกษา (2) การจัดการด้านความปลอดภัยของอาหาร สุขาภิบาลอาหารและ สิ่งแวดล้อม (3) คุณค่าทางโภชนาการ และสารอาหารที่เด็กควรได้รับตามวัย  (4) การบูรณาการจัดการเรียนรู้ และปัจจัยแวดล้อมเชิงสร้างสรรค์ และ                     

(5) การเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ เพื่อมุ่งเน้นให้มีการทำงานอย่าง บูรณาการตั้งแต่ ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ตามห่วงโซ่การจัดบริการอาหารและห่วงโซ่คุณค่าสารอาหาร ที่มีเรื่องโภชนาการ เป็นจุดเชื่อมต่อ ระหว่างอาหารกับสุขภาพ ซึ่งมีความสำคัญมากต่อคุณภาพ

ชีวิตมนุษย์ทุกช่วงวัยตั้งแต่เกิด จนถึงผู้สูงวัย ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมนำร่อง กว่า 700 แห่ง จาก สังกัดกทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สพฐ. กระจายในเกือบทุก จังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้เด็กวัยเรียน

สามารถเข้าถึงอาหารสุขภาวะเพิ่มขึ้น ยกระดับภาวะโภชนาการดีขึ้น สามารถนำไปขยายผลได้ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา และสภาพภูมิศาสตร์ จากการพัฒนาโครงการอาหารและโภชนาการในเครือข่ายเด็กไทยแก้มใสอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปี ได้ค้นพบว่า ปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียน คือได้เกิดจุดเปลี่ยนของผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน ชุมชน เกษตรกร และ สถาบันการศึกษาทางวิชาการในพื้นที่ มีการทำงานร่วมกัน มีความตระหนักถึงปัญหาของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโภชนาการของนักเรียน และ การจัดการอาหาร โภชนาการของโรงเรียน โดยอาศัยปัจจัยกระบวนการบริหารจัดการภายในโรงเรียน ซึ่งได้แก่ การกำหนดนโยบายของโรงเรียน การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน การบรรจุเป็นแผนปฏิบัติงานประจำปีของโรงเรียน การจัดการอาหารกลางวัน อาหารเช้าสำหรับนักเรียนขาดแคลน  ที่สอดคล้องกับปัญหาด้านทุพโภชนาการ และ พฤติกรรมด้านสุขภาพของนักเรียน รวมทั้ง การบริหารจัดการทรัพยากรด้านบุคลากร องค์ความรู้ และงบประมาณของโรงเรียน

    ความร่วมมือของ สสส.และมูลนิธิสร้างเสริมวิถีบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ (มอส.) มีเป้าหมายในการทำงานร่วมกับภาคียุทธศาสตร์ต่าง ๆ และสถาบันการศึกษา  พยายามดำเนินงานที่ลงลึกในรายละเอียด เพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาในระดับพื้นที่ มุ่งให้เกิดการขับเคลื่อนระบบคุณภาพอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชนที่มี ความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และผลักดันให้เกิด การขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อสุขภาวะ เข้าสู่ระบบงานประจำของโรงเรียนในระยะยาว โดยเน้นการพัฒนาและสร้างความรอบรู้เรื่องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะ

(Food Literacy) แก่ครู นักเรียนและผู้ปกครอง รวมทั้งได้มีการสนับสนุนการพัฒนาหน่วยจัดการกลางผลผลิตอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงจากชุมชนเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน ร้านค้า และตลาดเขียวในชุมชน เพื่อสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เป็นชุมชนตัวอย่าง มีพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนระบบอาหารชุมชน ในปี 2564-2565แล้ว รวม 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดบุรีรัมย์ และ จังหวัดสุรินทร์ คาดว่า จะสามารถถอดบทเรียนในปี 2567 สู่การขยายผลในวงกว้างต่อไป เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร ของประเทศไทย ให้บรรลุเป้าประสงค์ ตามวิสัยทัศน์ที่ได้ตั้งไว้ คือ …

“ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน”

admin