web analytics

‘ไททศมิตร’ สะท้อนปัญหาชีวิตที่หลงผิดใน ‘วัยหนุ่ม’

‘ไททศมิตร’ สะท้อนปัญหาชีวิตที่หลงผิดใน ‘วัยหนุ่ม’

เพลงประกอบภาพยนตร์ ‘วัยหนุ่ม 2544’  ได้ ‘Rasmee Isan Soul’ ร่วมฟีเจอริ่ง

    ‘วัยหนุ่ม’ บทเพลงที่เต็มไปด้วยความรู้สึกกับเรื่องราวลึกซึ้งที่สะท้อนถึงปัญหาและทางเลือกในชีวิตวัยหนุ่ม ที่ถ่ายทอดโดย “ไททศมิตร” (TaitosmitH) วงดนตรีร็อกเนื้อหาเพื่อชีวิตแห่งค่ายGeneLab ในเครือ GMM MUSIC ประกอบภาพยนตร์สะท้อนความจริงอันเข้มข้นของสังคมไทย ‘วัยหนุ่ม 2544’ ผลงานการกำกับของ‘พุฒิพงษ์ นาคทอง’ ผู้สร้างชื่อจากภาพยนตร์ ‘4Kings’ ทั้ง 2 ภาค ที่สร้างรายได้ถล่มทลายและกลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงมากไปแล้วก่อนหน้านี้  


     โดยไอเดียของเพลงนี้เริ่มจากวงอยากนำเสนอสิ่งใหม่ แต่ยังคงความเป็นไททศมิตรไว้ และเนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้มีความดราม่าหนักมากอยู่แล้ว วงจึงเลือกนำเสนอผ่านดนตรีแบบ Theme song แบ่งพาร์ทชัดเจนทั้งดนตรีและเนื้อเพลง ให้มีความจริงจัง สนุก และดราม่าเข้มข้นผสมกันอยู่ในเพลงเดียว และความพิเศษที่สำคัญคือได้เสียงร้องอันไพเราะและทรงพลังของ ‘แป้ง – รัสมี เวระนะ’ หรือ ‘Rasmee Isan Soul’ ศิลปินเจ้าของรางวัลทางดนตรีมากมายมาร่วม Featuring ถ่ายทอดอารมณ์ความเจ็บปวดของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกทางเดินชีวิตที่ผิดพลาดทำให้เพลงนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นอีกด้วย

     วง ไททศมิตร ได้เล่าถึงเพลงนี้ว่า… ‘คำว่า ‘วัยหนุ่ม’ นอกจากจะเป็นชื่อของทัณฑสถานวัยหนุ่มกลางในภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว มันยังสื่อถึงช่วงวัยหนึ่งของผู้ชาย วัยแห่งความฝันและความทะเยอทะยาน ที่บางครั้งนำพาไปสู่เส้นทางแห่งความผิดหวังและความสูญเสีย เราเลยเขียนเนื้อเพลงที่เล่าถึงชีวิตวัยนั้น อย่างในท่อนหนึ่งที่พูดว่า “ในวัยเด็กเคยมีความฝัน สักวันต้องยิ่งใหญ่” เป็นการชี้ให้เห็นว่าตอนเด็กเรามักจะมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ แต่พอเข้าสู่ช่วงวัยหนุ่มความยิ่งใหญ่นั้นกับแปรเปลี่ยนความหมายไปในทางอื่นซะอย่างนั้น พวกเราเลยใช้คำว่า ‘ยิ่งใหญ่’ มาเล่นเพื่อให้มันล้อไปกับท่อน ”เพื่อความยิ่งใหญ่และผู้หญิง“ ในเพลง ‘แดงกับเขียว’  แต่เพลงวัยหนุ่มจะต่างออกไป เพราะมันเปรียบได้กับจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่ร้อยเรียงความระยำตำบอนของชีวิตลูกผู้ชายกับการหวงแหนศักดิ์ศรีที่กินไม่ได้ เหมือนเป็นเพลงสุดท้ายของไตรภาคเพลงไททศมิตร ที่ถูกเล่าจากเพลง ‘แดงกับเขียว’ มาสู่ ‘วัยหนุ่ม’ และสุดท้ายจบที่เพลง ‘นักเลงเก่า’  ซึ่งหากเจตนาของผู้กำกับคือการนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้เพื่อสะท้อนปัญหาให้กับคนที่ดวงตามืดบอดได้มองเห็นตัวเอง มองเห็นความจริง เพื่อให้รู้ตัวก่อนที่มันจะสายเกินแก้ หน้าที่ของเพลงวัยหนุ่ม ก็คงไม่ต่างกันเท่าไรครับ เพียงแต่เป็นส่วนเสริมที่นอกจากคนดูจะได้เห็นเรื่องราวจากในภาพยนตร์แล้วพวกเราคิดว่าเค้าควรจะได้ยิน ได้ฟังและพิจารณาว่าควรจะดำเนินชีวิตต่อไปเช่นไร เพราะเส้นทางนี้ไม่ได้มีคำเชิดชู หรืออนุสาวรีย์ให้ในปลายทาง แต่จะมีเพียงคำสาปแช่ง การสูญเสีย และรอยน้ำตาของครอบครัวอันเป็นที่รักเท่านั้นเอง’



admin