web analytics

วช. ดัน Smart Farmer ชูทุเรียนเมืองนนท์  พ้นวิกฤตน้ำเค็มหนุน เตรียมพร้อมส่งออกต่างประเทศ

วช. ดัน Smart Farmer ชูทุเรียนเมืองนนท์  พ้นวิกฤตน้ำเค็มหนุน เตรียมพร้อมส่งออกต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. พร้อมด้วยกลุ่มสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ วช. นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนเพื่อการส่งออก)” โดยมี รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการวิจัย และ คุณศิวนาถ เพ็ชรสุวรรณ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ดำรงพงษ์ เพ็ชรสุวรรณ แห่ง สวนอลิษา และ นายเฉลิมศักดิ์ ผมพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอเมืองนนทบุรี ให้การต้อนรับ ณ สวนอลิษา อ.เมือง จ.นนทบุรี

ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ ผู้ทรงคุณวุฒิ วช. กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เป็นหนึ่งในโครงการท้าทายไทยที่ วช. สนับสนุนทุนวิจัย สวนทุเรียนอลิษา อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็นสวนทุเรียนที่เก่าแก่ แต่มีปัญหาในเรื่องน้ำเค็ม ซึ่ง วช. ได้นำนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะทำให้ต้นทุเรียนรอดจากน้ำเค็ม นอกจากนี้ยังหาวิธีทำให้ต้นทุเรียนเจริญเติบโต มีทุเรียนอร่อยให้รับประทาน ซึ่งทุเรียนที่นี้ขายได้ราคาดี เมื่อราคาดีก็อยากให้ต้นทุเรียนยั่งยืนอยู่ไปนาน ๆ และมีผลผลิตมาก ๆ อันนี้คือจุดประสงค์ที่มาในวันนี้

นายเฉลิมศักดิ์ ผมพันธ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอเมืองนนทบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันพื้นที่ปลูกทุเรียนในอำเภอเมืองที่ขึ้นทะเบียนมีอยู่ 1,168 ไร่ เก็บเกี่ยวได้ประมาณ 100 กว่าไร่ ปีที่แล้วสำรวจผลผลิตได้ประมาณ 5,000 ลูก ปีนี้อยู่ในระหว่างการสำรวจ รู้สึกยินดีที่ วช. ได้นำงานวิจัยลงพื้นที่มาช่วย ซึ่งขณะนี้สวนทุเรียนประสบปัญหา เรื่องน้ำเค็ม สภาพภูมิอากาศ โรคและแมลง ในบางสวน แต่บางสวนก็ประสบความสำเร็จ บางสวนปลูกแล้วตาย ปลูกซ่อม จนท้อใจเลิกทำสวนไปแล้วก็มี ในส่วนของการแก้ไขปัญหาของสำนักงานเกษตรอำเภอ เข้าไปช่วยดูเรื่องความสมบูรณ์ของดิน เรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งวันนี้เป็นโอกาสดีที่จะได้นำงานวิจัยไปเผยแพร่ให้เกษตรกรที่ทำสวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรีต่อไป

 รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ผู้บริหารจัดการโครงการฯ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในการดำเนินโครงการพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ Smart farmer (กรณีศึกษาการพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อการส่งออก) ภายใต้กรอบการวิจัยหลักการเพิ่มผลผลิตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยคณะนักวิจัยได้ถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิตทุเรียนคุณภาพสูงจากการวิจัยและพัฒนาการชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem: RRE) เป็นนวัตกรรมที่สร้างระบบนิเวศน์ให้มีฮิวมัสและสารคีเลตเพื่อให้รากฝอย (fine root) หาน้ำและแร่ธาตุร่วมกับระบบจุลินทรีย์ในดินอย่างสมดุล และนวัตกรรมการให้น้ำแบบที่ราบลุ่ม ที่ให้น้ำตามการปิดเปิดปากใบของทุเรียน และสภาพน้ำขึ้นน้ำลง เพื่อชักนำให้ทุเรียนสร้างกลิ่นหอม และรสชาติดี ตามเดิมของผลไม้ในเขตราบลุ่มแม่น้ำของนนทบุรีที่มีชื่อเสียง ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน ณ สวนอลิษา จ.นนทบุรี ส่งผลให้ต้นทุเรียนฟื้นจากอิทธิพลน้ำเค็มหนุน และน้ำเสียจากการขยายตัวของชุมชนเมือง มีการออกดอกติดผลและให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดีมาก และยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ก่อนทุกแปลงใน จ.นนทบุรีอีกด้วย

         คุณศิวนาถ เพ็ชรสุวรรณ แห่งสวนอลิษา เปิดเผยว่า สวนที่ได้รับมาเป็นมรดกตกทอดมา และคุณแม่ท่านให้รักษาไว้ ทางสวนได้พยายามทำให้ดีที่สุด ก่อนเมื่อปี พ.ศ. 2561 สภาพต้นทุเรียนยังมีสภาพดีให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง จากสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศเปลี่ยนไป น้ำที่ใช้รดทุเรียนมีความเข้มสูงมาก 560-800 ppt ทำให้ทุเรียนส่วนใหญ่ใบไหม้ เมื่อแตกยอดใหม่มาใบเล็กและร่วงหล่นไป พร้อมกับการขยายตัวของชุมชนเมืองทำให้น้ำเสียซึมผ่านใต้ดิน ทำให้ต้นทุเรียนทยอยทรุดโทรม เมื่อปลายปี 2564 ทางสวนได้ทราบข่าวว่าทาง จ.นนทบุรี ได้ทำหนังสือไปขอให้ทางกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนักวิจัยจากหลายสถาบันมาร่วมประชุมกับทางจ.นนทบุรี ภายหลังได้รับการติดต่อประสานงานกับทางทีมวิจัยทุเรียนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ และทีมงานนักศึกษาปริญญาโท คุณธนวัฒน์ โชติวรรณ

เข้ามาฟื้นฟูสภาพสวนตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นมา ด้วยนวัตกรรมชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem) และปรับปรุงการให้น้ำด้วยนวัตกรรม Basin Fertigation ทำให้ต้นทุเรียนมีสภาพดีขึ้น ออกติดผลได้ง่าย เป็นธรรมชาติเหมือนในอดีต ที่ทุเรียนออกดอกติดผลเอง ไม่ต้องบังคับน้ำให้ออกดอกเหมือนในปัจจุบัน อีกทั้งยังลดการใช้สารเคมีหรือปุ๋ยไปได้อย่างมาก ทุเรียยังคงมีคุณภาพดี เมื่อได้รับการอบรมจากทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พบเพื่อนในจังหวัดเดียวกันอาทิสวนเสรี  คุณอนุสรณ์ กลอยดี  ไทรน้อย นนทบุรี กว่า 200 ไร่ สวนเกษตรไฮเปอร์ คุณสุชาติ วงษ์สุเทพ ที่ปราจีน สวนคุณชัยนรินทร์ ธีรเดชไชยนันท์ สุราษฎร์ธานี  และสวนลุงเจ๊ก คุณกมล เหลือวิชา ศรีสะเกษ ได้นำ นวัตกรรมการยกรากรอย RRE ไปฟื้นฟูสวนที่ทรุดโทรมจากโรครากเน่าโคนเน่าแบบถาวร เราจึงได้รวมกลุ่มกันในนาม วิถีทุเรียนอร่อย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์แล้ว มีคุณชวกร เตโชธรรมสถิต สวนยายช่วยห้วยตาชุ้น อ.ไทรโยค กาญจนบุรี เป็นหัวเรียวแรงในการประสานงานและคอยให้ความช่วยเหลือกลุ่ม วิถีทุเรียนอร่อย กลุ่มมีสมาชิกร้อยกว่าท่าน ในปัจจุบันและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเอย่างต่อเนื่อง ในอนาคต

           อนึ่ง จ.นนทบุรีถือว่าเป็นแหล่งที่มีชื่อเสียงแหล่งหนึ่งในการปลูกทุเรียนจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำ จ.นนทบุรี ที่ว่า “พระตำหนักสง่างาม ลือนามสวนสมเด็จ เกาะเกร็ดแหล่งดินเผา วัดเก่านามระบือ เลื่องลือทุเรียนนนท์ งามน่ายลศูนย์ราชการ” ซึ่งแสดงถึงการเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของทุเรียนนนทบุรีในอดีตได้เป็นอย่างดี โดยมีผู้สันนิษฐานว่า ได้มีการนำเอาทุเรียนเข้ามาแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศไทย ราวสมัยของพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ราวปี พ.ศ. 2330 โดยพบหลักฐานจากเอกสารฐานเกษตรกรรม ระบุว่า ทุเรียนแพร่กระจายเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2330 จากภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเมียนมาร์ และเข้ามาทางใต้ของประเทศไทย ต่อมาได้มีการนำเอาพันธุ์ทุเรียนต่าง ๆ เข้ามาปลูกเป็นสวนทุเรียนอย่างแพร่หลายในแถบฝั่งธนบุรีตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาและขยายพื้นที่มาจนถึงจ.นนทบุรี ทำให้ตลาดนนทบุรีในอดีตกลายเป็นแหล่งขายทุเรียนที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ และเนื่องจากทุเรียนนนท์มีเนื้อละเอียดนุ่ม รสชาติ และความหลากหลายของสายพันธุ์ กล่าวกันว่า ดินในแถบนนทบุรี เป็นดินเหนียวที่มีธาตุอาหารของพืชอย่างบริบูรณ์ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากดินในแถบอื่นๆ ที่มีการปลูกทุเรียน จึงทำให้เนื้อทุเรียนที่มาจากจ.นนทบุรีละเอียด เนื้อหนาและรสดีมาก จึงทำให้ทุเรียนนนท์ มีราคาสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด นำรายได้เข้าสู่ชุมชนและจ.นนทบุรีปีละหลายร้อยล้านบาท

admin